แนวความคิดในการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี

“ ปัญหาของเกษตรกรไทยก็คือ ภาคการเกษตรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสินค้าทางการเกษตรมีมูลค่าตกต่ำ ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการส่งออกเป็นหลัก แต่ไม่ได้เน้นการพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตรอย่างจริงจัง “

       เกษตรกรไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เป็นหนี้เป็นสิน ลำบากตรากตรำ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มีแต่จะแย่ลงอีกในอนาคต จนบางครั้งเราก็รู้สึก “ ชิน “ ไปโดยปริยาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศของเราต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลายาวนาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย มีขนาดใหญ่มากในภูมิภาค มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากมาย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แต่ … แปลกที่ประเทศไทย ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และกำลังสำคัญของเราได้อย่างจริงจังและยั่งยืน ต่างจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีวิธีคิดแบบ Agi – Business ซึ่งเป็นแนวคิดอุตสาหกรรมขั้นที่ 6 (SixthOrder Industry) ที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จและสามารถพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรของตนเองได้อย่างน่าทึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่จุดประกายให้กลุ่มบริษัทยูชิ กระโดดจากธุรกิจการขายสินค้าและบริการในภาคอุตสาหกรรม เริ่มเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปในภาคสินค้าการเกษตรอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2016 เพื่อแผนในการยกระดับสินค้าการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

       “ ผลไม้สด “ เป็นสินค้าที่คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แถมเป็นสินค้าที่มีวัตถุดิบมากมายอยู่ในตลาดการเกษตร “ เราจะมีวิธีอย่างไรให้ผลไม้ของคนไทย มีมูลค่าที่สูงขึ้น “ นั่นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในห้องประชุมผู้บริหารและประธานกรรมการบริษัท

แผนธุรกิจของเราได้เชื่อมโยงธุรกิจในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่เรามีความชำนาญอยู่แล้วในส่วนของโรงงาน และความชำนาญในด้านของการตลาดสมัยใหม่ ผนวกเข้าไว้ด้วยกัน โดยการวางโครงร่างทางธุรกิจก่อนเริ่มการดำเนินงาน หรือที่เรียกว่า “ Business Plan & Model Canvas “ โดยยูชิ ได้เลือกวัตถุดิบหลักหนึ่งตัวในการเริ่มดำเนินธุรกิจ เพื่อเน้นแปรรูป และเพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนนำไปสู่ตลาด (Value Add Up)

และสิ่งที่เราเลือกนั่นคือ “ ผลส้ม “ นั่นเอง เหตุผลก็เพราะว่า “ส้ม” เป็นผลไม้ที่เหมาะกับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ดี อีกทั้งเราดำเนินธุรกิจผ่านระบบการวางแบบแผนของญี่ปุ่น ซึ่งมีรูปแบบชัดเจน ใช้หลักสถิติในการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบกัน โดยจากสถิติปี 2560 มีพื้นที่ปลูกส้มในประเทศไทยมากกว่า 99,000 ไร่ โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งไม่น้อย !!!

       โดยสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยเลือกปลูกส้มกันเป็นจำนวนมาก ก็เพราะส้มเป็นผลไม้ที่สามารถทำกำไรได้สูงเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น และมีอายุของต้นส้มเฉลี่ย สูงถึง 20 ปี ทำให้การขยายตัวในการเพาะปลูกส้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี และนั่นเป็นสัญญาณและสิ่งที่บ่งชี้ได้เลยว่า ภาพรวมในอนาคตของผลไม้ชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วงอย่างแน่นอน เพราะพฤติกรรมของเกษตรไทยจะเน้นการเพาะปลูกตามกันเมื่อผลผลิตมีราคาสูง และจะทำให้เกิดสภาวะผลผลิตล้นตลาดในที่สุด เป็นวัฏจักรแบบนี้มาโดยตลอด (Over supply)

และก็ไม่ผิดจากหลักสถิติที่คาดการณ์ไว้ ในปี 2561 ราคาของส้มเฉลี่ย กก.ละ 20 บาท ในขณะที่ต้นทุนการปลูกอยู่ที่ กก.ละ 10 บาท (ผลผลิตต้นฤดู) ซึ่งหากผลผลิตทะลักออกมาทั้งหมดเกษตรกรจะเสี่ยงขาดทุนเป็นอย่างสูงแน่นอน และถ้าเกษตรกรรายใดปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดปัญหา ขาดทุน หนี้สิน และอื่น ๆ ตามมา ส่วนเกษตรกรที่มีสายป่านยาวและบริหารจัดการดี ก็อาจจะพ้นวิกฤตไปได้ แต่สถานการณ์ของผลไม้ชนิดนี้จะยังคงเป็นแบบนี้ไปถึงปี 2565 เป็นอย่างน้อย

เพราะเหตุนั้นเองจึงทำให้กลุ่มบริษัทยูชิ  เลือกที่จะนำผลส้มมาแปรรูป ในรูปแบบของโรงงานผลิต โดยเน้นกระบวนการคิดตั้งแต่ “ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “ แบบครบวงจรในการบริหารและดำเนินงาน และได้ทำการผลิตและแปรรูปน้ำส้มสดแท้ 100% โดยผ่านชื่อแบรนด์สินค้า “ Shinsen by Yushi “

และด้วยแนวคิดแบบ Agri-Business ซึ่งจะเน้นการเชื่อมโยงกันในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ครบวงจรทั้งทางด้านการผลิต แปรรูป และบริการ ตามด้วยการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง รวมไปถึงการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายผู้ผลิตทางการเกษตร จนนำไปสู่การเกิดธุรกิจการเกษตรที่หลากหลาย

ขั้นแรก เราได้เริ่มรวบรวมผู้มีความสามารถทางด้านการเกษตร นักวิจัยและผลงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อวิเคราะห์และทำการแปรรูปผลส้ม โดยได้รับคำปรึกษาและความร่วมมือจากศาสตราจารย์ และคณะวิชาเกษตรอุตสาหกรรม ม.เกษตรศาสตร์ (บางเขน) สำหรับการควบคุมคุณภาพของต้นน้ำ (เกษตรกรและแหล่งปลูก) และการคัดเลือกสายพันธุ์ของส้ม โดยองค์ความรู้ที่ได้คือ
       “จริงแล้วส้มเขียวหวาน มีปลูกอยู่ทั่วไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เมื่อปลูกส้มในระดับอุณหภูมิที่ต่างกัน ในแต่ละพื้นที่ ผลส้มที่ได้ก็จะสร้างสีที่ต่างกัน เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันในเวลากลางวันและกลางคืน สังเกตส้มเขียวหวานที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจะมีสีผิวเข้มกว่าส้มที่ปลูกทางตอนใต้ จึงทำให้มีชื่อเรียกที่ต่างกัน ไปในแต่ละท้องถิ่นและมีรสชาติที่แตกต่างกันเนื่องจากดินอีกด้วย “

       กลุ่มยูชิ ได้นำนักวิชาการทางด้านการเกษตรและดิน เข้าไปให้คำแนะนำกับเกษตรกรในด้านการเพาะปลูกและทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ด้วยการทำ Contract Farming เพื่อให้ผลผลิตของส้ม  เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถป้อนผลไม้ส่งโรงงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำให้เกษตรกรถูกกดราคาจากนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง ถูกเอาเปรียบ พร้อมกันนั้นนักวิชาการด้านการเกษตรยังแนะนำ และให้คำปรึกษากับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ทำให้การผลิตผลผลิตสมบูรณ์ขึ้นด้วยหลักวิชาการ
       อาทิ การแนะนำเทคนิคของช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลผลิตที่อร่อยที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม เพราะส้มมีการเจริญเติบโตเต็มที่หลังจากผ่านหน้าฝน และช่วงฤดูหนาว เป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว จะไม่มีการแตกใบอ่อนหรือแตกราก อาหารที่ปรุงได้ทั้งหมดก็จะถูกเก็บสะสมในผลส้ม ทำให้ผลส้มในรุ่นปลายหนาวนี้มีรสชาติอร่อยที่สุด รวมทั้งการลดการใช้สารเคมีโดยหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน
หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลส้มในช่วงเวลาดังกล่าวส่งโรงงาน ก็จะมีผลกำไรที่มากที่สุดด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่อง  “ ดิน ” ก็มีส่วนสำคัญที่นักวิชาการ แนะนำแก่เกษตรกร เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น สัดส่วนการเติมปูนขาว วิธีการตากดิน เทคนิคการรดน้ำ ฯลฯ จนดินมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเติบโตของต้นส้มและให้ผลผลิตที่ดี นั่นเป็นสิ่งที่กลุ่มบริษัทยูชิร่วมกับนักวิชาการทางการเกษตรเข้าไปช่วยในเรื่องของการให้ความรู้ในการทำธุรกิจตั้งแต่ “ ต้นน้ำ “

อันเป็นรากฐานและบันไดขั้นแรกของการทำธุรกิจในแบบฉบับของ “ Yushi “

เมื่อได้วัตถุดิบต้นน้ำแล้วก็มาถึงขั้นตอนของ “ กลางน้ำ “ หรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value Add) ฝ่ายบริหารและที่ปรึกษาลงมติร่วมกันว่า จะทำการผลิต “น้ำส้มสดแท้ 100%” และต้องเป็นน้ำส้มที่ไม่เสียคุณค่าทางอาหาร คุณประโยชน์ และไม่มีสารเคมีเจือปนใด ๆ

       โดยกลุ่มบริษัท ได้ทำการก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำผลไม้มาตรฐาน GMP ขึ้นบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ในพื้นที่ของกลุ่มบริษัท เพื่อทำการแปรรูปส้มและผลไม้ขึ้น ในนาม Yushi F&B โดยนำความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงงานที่กลุ่มบริษัท มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ทางด้านระบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ มาสร้างระบบและเครื่องจักร  สำหรับสนับสนุนและรองรับการผลิต โดยมีกำลังการผลิตในขั้นเริ่มต้น (2017) ประมาณ 10,000 – 15,000 ขวดต่อวัน

โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียงแค่ไม่กี่คน โดยแบ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านเครื่องจักร ฝ่ายผลิตและฝ่ายควบคุมคุณภาพ และมีส่วนของนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร Food science and technology ในการควบคุมคุณภาพของน้ำส้มสดอยู่ตลอดเวลา  เนื่องจากน้ำส้มสด 100% จำเป็นต้องควบคุมองค์ประกอบมากมาย  ทั้งจากภายนอกและภายใน เพราะเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น (Shelf life) ต้องควบคุมสัดส่วนการผสมและการปรุงรสน้ำส้ม (มีการผสมส้มถึง 3 สายพันธุ์) โดยการควบคุมสัดส่วนอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

สินค้าต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิและมีกระบวนการห้องปลอดเชื้อ อย่างเข้มงวด รวมถึงเรื่องของความสะอาดและกรรมวิธีการผลิตบางอย่างที่ต้องมีการควบคุมกระบวนการ (Process) เป็นอย่างสูง เพื่อป้องกันการเจือปน ของสิ่งแปลกปลอม รวมไปถึงการเก็บตัวอย่างในแต่ละรอบการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและพัฒนาข้อมูลได้

ไม่มีการเจือปนใด ๆ และการเติมแต่งสารอันตราย อย่างเช่น สารกันบูด กรด เกลือ หรือไวตามิน แต่น้ำส้มสดของเราสามารถอยู่ได้มากกว่า 10 วัน ซึ่งน้ำส้มคั้นสดในตลาดทั่วไปไม่สามารถทำได้ (น้ำส้มคั้นสดทั่วไปจะอยู่ได้ประมาณ 3-5 วัน) ซึ่งเป็น Know How ของเรา ที่ทำให้น้ำส้มสด 100%

“ Shinsen by Yushi “ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจากส้มธรรมดาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์จากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ กลางน้ำของเรา พร้อมเดินไปกับเกษตรกรแล้ว ……

ส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญและเป็นหัวใจ ที่เกษตรกรทั่วไปหรือแม้แต่ผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง  นั่นก็คือปัญหาเรื่องการหาตลาด ความรู้ในการขายสินค้าและสถานที่จัดจำหน่ายหรือ “ ปลายน้ำ “ นั่นเอง ซึ่งการบริหารการจัดการส่วนนี้ เป็นส่วนที่ต้องใช้ทักษะและกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากมายในเรื่องของการตลาด การวางตำแหน่งสินค้า และเงินทุนในการบริหารจัดการงานขาย และอื่น ๆ

โดยกลุ่มบริษัทยูชิ  ได้ดำเนินการตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้  ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นโดยนำเทคโนโลยีทางการสื่อสารทั้ง ออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) เข้ามาประยุกต์ใช้ โดยในด้าน ออนไลน์ (Online) เน้นในของเรื่องการสร้างการรับรู้ (Awareness Branding) โดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของทางบริษัท โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน อาทิ อาชีพ ช่วงอายุ พฤติกรรมการบริโภค กำลังซื้อ ฯลฯ และสามารถส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางดังกล่าว (B2C) ตามหลักการของอุตสาหกรรมขั้นที่ 6 (SixthOrder Industry) ในด้านการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง

        ส่วนทางด้าน ออฟไลน์ (Offline)  นั้น กลุ่มบริษัทยูชิ  มีเครือข่ายลูกค้าในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ อันเป็นผลพวงจากการดำเนินงานทางด้านอุตสาหกรรมพัดลม ,ระบบระบายอากาศและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้มีฐานลูกค้า ,คอนเน็คชั่น และช่องทางการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องมากมายที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการทำธุรกิจ ทำให้การกระจายสินค้าใหม่ลงไปในตลาดกลุ่มเดิม (Increase Product and Services) เป็นเรื่องที่ถูกวางตำแหน่งไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ขั้นตอนดังกล่าวสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และสามารถวางสินค้า “ Shinsen by Yushi “ ไว้ในตลาดห้างสรรพสินค้า ,ร้านสะดวกซื้อ ,ร้านอาหารและร้านค้าทั่วไป (B2B) และในระยะเวลาไม่นาน ก็สามารถสร้างยอดการสั่งซื้อได้อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกปี หลังจากนั้นก็เกิดผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เกิดขึ้นตามมาอีก อาทิ น้ำตะไคร้ใบเตย , น้ำสับปะรดสด , น้ำสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น

ทำให้ห่วงโซ่ (Chain) ในการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูชิ เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการวิธีการบริหารจัดการ “ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” ที่ทำให้ทั้งเกษตรกร ผู้แปรรูป และชุมชนมีอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เพื่อขายผลิตภัณฑ์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีผลพวงถึงการสร้างงานในส่วนของระบบโรงงานและระบบขนส่งอีกด้วย

       อีกหนึ่งเป้าหมาย กลุ่มบริษัทยูชิ มีแนวคิดสำคัญในการสร้าง Agri – Business ในประเทศไทยร่วมกับชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรฐานรากและนักลงทุนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการสร้างธุรกิจคู่ขนานกับการทำธุรกิจน้ำผลไม้สดในประเทศไทย

ด้วยองค์ความรู้และสายสัมพันธ์ที่มีกับองค์กรและบริษัทเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น  จึงเกิดอีกหนึ่งโครงการขึ้น  โดยกลุ่มบริษัทยูชิ  ได้ร่วมลงทุนและวิจัยการทำเกษตรสมัยใหม่กับนักวิจัยและทีมงานของญี่ปุ่น โดยการปลูกพืชในโรงเรือน หรือ เกษตร 4.0 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย

เพราะกลุ่มบริษัทตระหนักรู้ว่าการเกษตรในประเทศไทย  มีปัญหาที่ใหญ่และสำคัญอีกหนึ่งประการเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน  นั่นคือปัญหาการปนเปื้อนของสินค้าการเกษตรจากยาฆ่าแมลงและเคมีภัณฑ์  รวมทั้งมาตรฐานการผลิตของเกษตรกรเอง  ที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย  เต็มไปด้วยพิษและติดบล็อกในที่สุดในสนามการค้าโลก  เพราะภาคการเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทยนั้น  เน้นเรื่องการส่งออกเป็นสำคัญ มีสัดส่วน GDP ที่สูง แต่ประเทศไทยในอนาคตจะประสบปัญหาการกีดกันทางการค้ามากขึ้น อันส่งผลมาจากผลิตภัณฑ์มีสารปนเปื้อน

โครงการ Yushi Nepon จึงได้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มบริษัทยูชิและบริษัทเนปอน (ประเทศญี่ปุ่น) ในการสร้างโรงเรียนเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสะอาดขึ้น โดยมีจุดร่วมร่วมกันคือการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรกรรมในประเทศไทย

“ เราก่อสร้างโรงเรือนเพาะปลูกอัฉริยะขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย “

       โดยเริ่มจากการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกสตรอเบอร์รี่สายพันธุ์ญี่ปุ่นขึ้นในฟาร์มทดลองในจังหวัดระยอง การร่วมกันพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก สุดยอดความร่วมมือทางเทคโนโลยีร่วมกัน โดยกลุ่มบริษัทยูชิ มีความชำนาญเป็นอย่างสูงในเรื่องของระบบระบายอากาศและทำความเย็น (Ventilations systems) ประกอบเข้ากับเทคโนโลยีชั้นสูงในการทำการเกษตรระบบปิดของญี่ปุ่น โดยการไม่ใช้ดิน หรือ “ Soilless cultivation “ โดยใช้สิ่งอื่นทดแทน เช่น ขุยมะพร้าว , พีทมอส หรือน้ำ เป็นต้น กระบวนการดังกล่าวมีข้อดีที่โดดเด่นมากอย่างหนึ่ง คือเกษตรกรสามารถควบคุมโรคและแมลงให้เป็น “ 0 “ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ด้วยเช่นกัน ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตสามารถเพาะปลูกที่ไหนก็ได้ และจะได้ผลลัพธ์และผลผลิตที่เหมือนกัน

สาเหตุที่เลือกสตรอเบอร์รี่และจังหวัดระยองนั้น กลุ่มบริษัทสร้างความท้าทายอยู่สองประการด้วยกัน

เพราะสตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีความละเอียดอ่อนสูง และปลูกยากแถมอ่อนแอต่อโรคแมลง
นั่นก็เพราะว่าเป็นความตั้งใจของกลุ่มบริษัทและเป็นความท้าทายแรกสตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย อีกทั้งยังมีความยาก และความท้าทายเป็นอย่างมากในการเพาะปลูกใน

ประเทศไทย เพราะแหล่งกำเนิดจริง ๆ ของเค้าอยู่ในประเทศเขตหนาว และสภาพอากาศในประเทศไทยไม่ใช่เมืองหนาว อีกทั้งสายพันธุ์ของสตรอเบอร์รี่ที่เลือกมาพัฒนานั้นเป็นสายพันธ์ของเมืองหนาว ไม่ใช่สายพันธุ์ในประเทศไทย จึงไม่ทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย และเป็นพืชที่ต้องการความหนาวเย็น  แต่ถ้าผู้ประกอบการจะต้องเปิดระบบการทำความเย็นตลอดเวลา ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายทางพลังงานที่สูงมาก ไม่คุ้มต่อหน่วยการลงทุน เป็นความท้าทายสำคัญเกี่ยวกับผลไม้ชนิดนี้

ประการที่สอง กลุ่มบริษัทตั้งใจเลือกสถานที่ตั้งโรงเรือน ให้อยู่ในเขตเมืองที่เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตรกรรมมากนัก “ เป็นความตั้งใจ “ เพื่อต้องการเค้น ทดสอบ วิจัยและปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในสภาวะบีบคั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้กับผลิตภัณฑ์  ด้วยแนวคิดที่ว่า  “ เทคโนโลยีทางการเกษตรของกลุ่มยูชิ ต้องสามารถปลูกที่ไหนก็ได้ ลูกค้าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหมือนกัน แม้แต่ในสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายก็ตาม “ นั่นเป็นความท้าทายที่สอง

การเกษตรแบบไม่ใช้ดิน หรือ “ Soilless cultivation “ นั้นในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่มากนักในประเทศไทย เพราะคนไทยเองก็คุ้นเคยกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือการปลูกพืชโดยใช้น้ำอยู่แล้ว  แต่กลุ่มบริษัทยูชิเลือกทำสิ่งที่แตกต่างกว่า โดยได้ทำการทดสอบและวิจัย และดูเงื่อนไขและองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมด  จนออกมาเป็นข้อสรุปได้ว่า โรงเรือนของเราจะใช้ “ ขุยมะพร้าว “ ในการเพาะปลูก ด้วยเหตุผลที่ว่ามะพร้าวเป็นพืชท้องถิ่นในประเทศไทยและหาได้ง่าย มีคุณภาพสูง สามารถอุ้มน้ำได้ดี สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทำให้เกิดมลภาวะและในอนาคตหากมีการใช้ในปริมาณมากขึ้น ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและชุมชนได้อีก

แต่ขุยมะพร้าวที่เรานำมาใช้ในการเพาะปลูกนั้น  จำเป็นต้องมีการคัดสรรค์คุณภาพ โดยจะไม่สามารถนำขุยมะพร้าวที่มีขุยจนมากเกินไป หรือมีเส้นกะลาของมะพร้าวปนอยู่มากเกินมาใช้งานได้ โดยส่วนผสมของขุยมะพร้าวที่จะนำมาใช้ในโรงเรือน  ต้องนำมาผสมกันให้ได้สัดส่วนที่สมดุลย์ที่สุด  และต้องผ่านขั้นตอนสำคัญในการคัดกรองนั่นคือการ “ทำให้เป็นศูนย์ “ (Set Zero) โดยการทำให้ค่า EC (Electrical conductivity) เข้าใกล้ค่า “ 0 “ เพื่อทำให้สารประกอบและแร่ธาตุภายในของขุยมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ  ในการจะนำมาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการเพาะปลูกเข้าใกล้ค่า “0” หรือไม่มีอะไรเจือปนอยู่เลยนั่นเอง  เพื่อการควบคุมมาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่ม  นั่นเป็นความใส่ใจและคำนึงถึงมาตรฐานขั้นสูงสุดของชาวญี่ปุ่น  หลังจากนั้นการบริหารจัดการก็จะมีระบบระเบียบและแบบแผนมาก  เป็นการเข้าสู่มาตรฐานอย่างเป็นทางการ  เพราะการเพาะปลูกทุกที่เราต้องได้ผลผลิตที่เหมือนกัน นั่นเป็น Concept ของเรา ซึ่งความรู้ที่ได้นี้  เกิดจากการทำงานวิจัยอย่างหนักในมหาวิทยาลัยและภาครัฐบาลของในญี่ปุ่น ในเรื่องของความเข้มงวดในการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้น

บนเนื้อที่เล็ก ๆ แต่หัวใจในการทำงานของเราไม่ได้เล็กตามพื้นที่

“ ผมต้องการนำสินค้าภาคเกษตรของไทยไปสู่ตลาดโลก ด้วยเทคโนโลยี และผมจะร่วมกับทีมงานจัดตั้งโครงการเกษตรกรรมไทย 4.0 สู่ตลาดโลก“  นั่นเป็นปณิธานของประธานกรรมการบริหารของกลุ่มยูชิกรุ๊ป “ ยุทธ  จึงสวนันทน์ “

ลำดับถัดมาคือการสร้างโรงเรือน และแน่นอนทุกเส้นทางไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ มีเงื่อนไขและสิ่งไม่เอื้ออำนวยมากมายในการปลูกสร้าง ทั้งความรู้ของคนงาน พื้นที่ เงินทุนมหาศาล ถ้าเทียบกับบริษัทขนาด SMEs ก็ต้องถือว่าใช้งบประมาณไปมากพอสมควร แต่เราก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคและเริ่มต้นโครงการในการปลูกสร้างโรงเรือนจนแล้วเสร็จ (2015-2016)

ซึ่งเมื่อก่อสร้างโรงเรือนเสร็จ ลำดับต่อมาก็คือการทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคและสัตว์แมลงคลานในโรงเรือนด้วย Co2 , คอลรีน และการปิดระบบทำความเย็นเพื่อทำการอบโรงเรือน ด้วยอุณหภูมิสูง เพื่อเป็นการตัดวงจรของสิ่งมีชีวิตในโรงเรือน โดยทำให้โรงเรือนอยู่ในสภาพปลอดสิ่งมีชีวิตที่จะรบกวนผลผลิตได้ ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นกล่าวว่า “ เราจำเป็นต้องควบคุมทุกอย่างให้มีค่าเข้าใกล้ศูนย์ เพราะการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งจำเป็น “ กระบวนการดังกล่าวจะทำให้แมลงและสัตว์รบกวนตายทั้งหมด เพื่อให้โรงเรือนเข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมก่อนการเพาะปลูก

โรงเรือนของกลุ่มยูชิ เนปอน ไม่ใช่แบบโรงเรือนปกติโดยทั่วไป  ที่สามารถเห็นได้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย  แต่เป็นโรงเรือน Hi-Tech ที่ใช้ระบบอัตโนมัติและเป็นโรงเรือนที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อยู่มากมายในโรงเรือน  เพื่อใช้ในการควบคุมเงื่อนไขต่าง ๆ ในโรงเรือนเซ็นเซอร์มากมายหลากชนิดประจำการณ์อยู่ตามจุดต่าง ๆ ของโรงเรือน ไม่ว่าจะเป็นตัววัดอุณหภูมิ , ค่าความเข้มของแสง , ความเข้มข้นของ Co2 , ความชื้นและอื่น ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความเย็นและทำความร้อน ระบบอัตโนมัติอื่น ๆ ในโรงเรือน

ความใส่ใจและละเมียดละไม รวมถึงวิธีในการคิดในแบบฉบับของคนญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง ความใส่ใจนี้ รวมไปถึงการควบคุมประชากรแมลง , สายพันธุ์ของผึ้ง , การดูแลการผสมเกสรของแมลง เฝ้าดูพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วันในโรงเรือน และการเก็บสถิติต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์

ผึ้งคือคีย์แมนสำคัญ

ในช่วงแรกเริ่มโครงการเราได้เลือกใช้ผึ้งพื้นเมืองในจังหวัดระยอง เข้ามาทำการทดลองในฟาร์ม โดยทดลองในระยะเริ่มต้น ผลปรากฏว่าผลสตรอเบอร์รี่ที่ออกมา ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ เราได้นำข้อมูลตัวนี้มาวิเคราะห์และปรึกษากันระหว่างทีมงานและผู้เชี่ยวชาญ  ถึงความน่าจะเป็นทุกกรณีที่เกิดขึ้น และได้ทดลองนำผึ้งอีกหลายสายพันธุ์โดยส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกและบริเวณใกล้เคียงจากเกษตรกรพื้นที่ใส่ลงไปในแปลงทดสอบ

ผลที่ได้ก็คือผึ้งไม่ค่อยทำการผสมเกสรเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่ในรัง จะออกมาเป็นส่วนน้อยซึ่งผิดวิสัยของผึ้งโดยทั่วไป  ทำให้ดอกของสตรอเบอร์รี่ในโรงเรือนมีน้อยเกินไป  จากการสังเกตพฤติกรรมผู้เชี่ยวชาญสรุปได้ว่า  เนื่องจากสตรอเบอร์รี่ที่ทำการเพาะปลูกเป็นสายพันธุ์ของเมืองหนาว และต้องใช้อากาศเย็นเป็นส่วนประกอบในการเจริญเติบโต เมื่อใช้ผึ้งในเขตร้อน มาเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็น จึงเกิดสภาวะการจำศีลเทียม

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ “ หนาวแล้ว เราไม่ทำงานดีกว่า “ ทำให้อัตราการผสมเกสรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทีมงานและนักวิจัย จึงปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ของผึ้งชุดใหม่  โดยมาจากทางเหนือที่คุ้นเคย

กับสภาพอากาศหนาวเย็น  ในเวลากลางวันอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะอยู่ประมาณ 25-30°C และช่วงเวลากลางคืน  จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15°C จากการเก็บตัวอย่างและผลการทดลองปรากฏว่าผึ้งชุดใหม่  มีอัตราการทำงานที่มากกว่าเดิมถึง 50% ส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผึ้งสายพันธุ์นี้ก็คือ ผึ้งหึ่งหรือบั๊มเบิล บี (Bumble Bee) ซึ่งผึ้งชนิดนี้เป็นกุญแจสำคัญในการผสมเกสร เพราะมันเป็นผึ้งที่ชอบอยู่ในอากาศเย็น รักสงบ ขยัน จึงทำงานได้ดีมากในโรงเรือนของเรา

ยังมีการพูดหยอกเอินกันในหมู่คณะผู้บริหารว่า “ เหมือนคนเลยนะ เจ้าผึ้งพวกนี้ หนาวก็อยากจะนอนอยู่บ้าน ไม่อยากทำงานซะอย่างนั้น สงสัยต้องเอาไวน์ให้จิบด้วยซะกระมัง จะได้แก้หนาว “

สาเหตุของการเลือกใช้ผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรนั้น  มีเหตุผลสำคัญเป็นอย่างมาก  เพราะว่าผึ้งสามารถทำงานได้ละเอียดอ่อนกว่ามนุษย์มาก เป็นแมลงธรรมชาติ และเป็นแมลงที่ไวต่อสารเคมี คือเค้าจะไม่ชอบสารเคมี โดยจะเป็นเครื่องยืนยันการทำเกษตรกรรมวิถีใหม่ของกลุ่มยูชิ ว่าเกษตรกรรมยุคใหม่ของเราจะปลอดสารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างสมบูรณ์ และใช้ธรรมชาติผนวกกับเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามผึ้งทุกรังในโรงเรือนของเราจะได้รับการดูแล ให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืนและควบคุมปริมาณประชากรผึ้งเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อผลผลิตและระบบนิเวศน์ในโรงเรือนซึ่งโดยปกติแล้วประชากรผึ้งใน 1 รัง จะมีประมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร และความเหมาะสมของแหล่งอาศัย

เทคโนโลยีจะทำให้การเกษตรกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ต้องพึ่งฟ้าฝนอีกต่อไป

ยูชิ เนปอน ใช้ระบบปฏิบัติการ Agri – Net ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับโรงเรือนของเราโดยเฉพาะ มาช่วยในการทำงานซึ่งก็คือการใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมอัฉริยะ (Smart Device) ที่จะคอยควบคุมการเปิด – ปิดของโรงเรือน , ม่านรับแสง , ควบคุมอุณหภูมิความร้อน ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ รวมถึงความชื้นให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของผลไม้ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์

และอีกหน้าที่สำคัญของ Agri-Net ก็คือการส่งชุดข้อมูลและพฤติกรรมต่าง ๆ (Big Data) ส่งกลับไปที่

สถาบันวิจัยในญี่ปุ่น เพื่อทำการวิเคราะห์หาข้อมูลสำคัญและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยแบบ Real – Time ทำให้ผลผลิตและองค์ประกอบร่วมทุกอย่างได้รับการดูแลและพัฒนาอยู่เสมอ

ความร้อนหรือความเย็นที่เปลี่ยนไปภายในโรงเรือนล้วนแต่มีผลต่อผลผลิตทั้งสิ้น  อย่างที่บอกไปช่วงต้นว่าสตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ปลูกยากมาก ๆ (ปลูกให้ดี อร่อย) อีกทั้งตัวมันเองเป็นผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว และกลิ่นหอม  ดึงดูดพวกแมลงศัตรูพืชเป็นอย่างดี  เกษตรกรโดยทั่วไปจึงหลีกหนีไม่พ้นการใช้ยากำจัดแมลง และยากำจัดศัตรูพืช   สิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดสารตกค้าง  ยิ่งถ้าปลูกด้วยดินด้วยแล้ว  การหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงด้วยนั้นแทบจะมีความเป็นไปได้ยากมาก

กลับมาที่เรื่องของอุณหภูมิ  ในความเป็นจริงแล้วสตรอเบอร์รี่สามารถขยายพันธุ์หลายวิธี  แต่กลุ่มบริษัทของเรา เลือกใช้สองรูปแบบด้วยกัน  คือการขยายพันธุ์ด้วยการไหล (Runner) และการสร้างตาดอก (Flower Bud Formation) ซึ่งทั้งสองกระบวนการจะแตกต่างกัน  ซึ่งถ้าระยะเวลาการขยายพันธุ์มีอากาศและอุณหภูมิที่ร้อนจะทำให้เกิดสภาวะการเติบโตโดยการไหลของต้นได้ดี  แต่หากอากาศมีอุณหภูมิหนาวเย็น ก็จะเกิดการสร้างตาดอกได้ดีซึ่งจะมีความแตกต่างกันในการขยายพันธุ์  การเกิดสภาวะทั้งสองส่วนนี้  หากมีอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป  ก็จะไม่ส่งผลดีต่อการขยายพันธุ์ ดังนั้นทุกกระบวนการในฟาร์มของ ยูชิ เนปอน จึงต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยผู้เชี่ยวชาญ

ดอกสตรอเบอร์รี่ที่ออกมาจากโรงเรือนนั้น  จะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 10 – 14 ดอก แต่คนงานและนักวิจัยทางการเกษตรจะต้องตัดแต่งให้เหลือเพียง 7 ดอก เท่านั้น เพื่อให้สารอาหารและแร่ธาตุให้สามารถหล่อเลี้ยงผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ ลูกใหญ่ อร่อย หอม หวานอมเปรี้ยวและมีสีสันสวยงามนั่นเอง

4 เดือนแห่งการรอคอย

หลังจากผ่านไป 4 เดือน ผลผลิต “ ลูกแรก “ ของสตรอเบอร์รี่ก็เริ่มให้ผลผลิต เป็นสิ่งที่เราต่างก็ตื่นเต้นกับผลลัพธ์ที่ได้ โดยผลสตรอเบอร์รี่ลูกนั้นเราได้ตั้งชื่อมันว่า “ はる ベリ “ ฮารุ เบอร์รี่ (Haru Berry) เหตุเพราะมันออกผลในฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่นพอดิบพอดี (เดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ถือว่าฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่น) และเราได้เก็บรักษาสตรอเบอร์รี่ลูกแรกนั้นไว้อย่างดี เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างสองบริษัทจนสำเร็จลุล่วง

คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ใส่ใจและละเอียดอ่อน คำพูดนี้ฟังดูไม่เกินจริงแต่อย่างใด  หลังจากเราทำงานร่วมกันอย่างหนักช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  ซึ่งแม้แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิต Know How ในการเก็บผลก็ต้องกระทำด้วยกรรมวิธีเฉพาะ  เพื่อป้องกันการช้ำของผล และมันถูกกระทำด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างมาก ราวกับเป็นสิ่งล้ำค่า เรารู้สึกและเห็นแบบนั้นจริง ๆ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าถ้าสตรอเบอร์รี่ช้ำเนื้อสัมผัสและรสชาติจะเปลี่ยน มูลค่าก็จะลดลงเป็นอย่างมาก

“ฮารุ เบอร์รี่ “ ของเรา  เรียกได้ว่ามี ขันธ์ ๕ อย่างครบถ้วนเลยก็น่าจะดูไม่น่าจะพูดเกินเลยไปนัก  นั่นคือการมี รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เมื่อได้ลองทานแล้ว ผลลัพธ์ที่สามารถสัมผัสได้ก็คือ ผลใหญ่ รสชาติหวานอร่อย กลิ่นหอมมาก เวลากัดลงไปจะมีเสียงแตกของน้ำหวานของตัวสตรอเบอร์รี่ และรสสัมผัสอ่อนนุ่มเหมือนจะสามารถละลายในปากได้เลยทีเดียว

แถม “ ฮารุ เบอร์รี่ “ ของเรายังอร่อยกว่าสตรอเบอร์รี่ที่ปลูกในญี่ปุ่นเสียอีก ….
พูดเกินจริงไปหรือป่าว ?

มีความเป็นเหตุ เป็นผล และไม่เกินเลยไปแน่นอน รับประกันคุณภาพ เพราะสตรอเบอร์รี่จะอร่อยและมีรสชาติดีที่สุด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า  คือตอนเด็ดออกมาจากต้นตอนสุกเต็มที่และรับประทานเลยทันที มันไม่ใช่แค่อร่อยแต่มันจะอร่อยมาก ๆ เลย เพราะสดมาก  และจะทำแบบนั้นได้ สตรอเบอร์รี่ก็ต้องอยู่ในประเทศไทย โรงเพาะปลูกต้องอยู่ในประเทศไทย นั่นเอง

ที่บอกว่าของญี่ปุ่นที่นำเข้ามาอร่อยไม่เท่านั้น  ก็เป็นเพราะว่าการนำเข้ามาจากญี่ปุ่น  เกษตรกรต้องทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนที่ผลของสตรอเบอร์รี่จะสุกเต็มที่  แล้วขนส่งข้ามน้ำ ข้ามทะเลมา โดยต้องคำนวณเวลาให้พอดี  เพื่อให้ผลสุกที่ประเทศปลายทาง  ดังนั้นน้ำเลี้ยงในลูกสตรอเบอร์รี่จึงมีปริมาณไม่เท่ากับผลที่สุกคาต้น ทำให้รสชาติไม่หอมหวานเทียบเท่านั่นเอง

โดยความหวานของ “ ฮารุ เบอร์รี่ “ นั้นทางกลุ่มบริษัทมีการควบคุมและทดสอบอย่างสม่ำเสมอโดยใช้เครื่องทดสอบความหวาน หรือ Brix Refract Meter  ความแม่นยำสูง เพื่อควบคุมมาตรฐานและค่าความหวานที่ได้ต้องอยู่ที่ประมาณ 12 Brix เป็นค่ามาตรฐานของเรา

ขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมการกินแบบญี่ปุ่นแล้ว  เค้าติดอันดับโลกในการมีลำดับขั้นตอนในการกินแบบมีศิลปะ และมีเหตุมีผล สตรอเบอร์รี่ก็เช่นเดียวกัน  มันมีวิธีและวัฒนธรรมการกิน เช่นเดียวกันกับศาสตร์และศิลปะการชงชา หรือการดื่มไวน์

โดยการกินสตรอเบอร์รี่ให้อร่อยที่สุดนั้น  ต้องเริ่มตั้งแต่การจับผลสตรอเบอร์รี่กันเลยทีเดียว  คนปกติโดยทั่วไป โดยเฉพาะคนไทยอย่างเรา ๆ ส่วนใหญ่ก็จะจับตรงก้านของมันแล้วก็กัดจากปลายผล จนหมด  ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปกติของเรา

แต่ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมกล่าวว่า ” วิธีการกินสตรอเบอร์รี่ที่ถูกต้องคือ ต้องจับกึ่งกลางของผลด้วยนิ้วมือ  หลังจากนั้นเด็ดใบรอบ ๆ ก้านและตัวก้านออก  ดมกลิ่นของสตรอเบอร์รี่ก่อน  หลังจากนั้นให้กัดบริเวณโคนของผล (ส่วนบนที่เด็ดก้านออก)  เพราะรสชาติส่วนนั้นจะมีส่วนเปรี้ยวที่สุดของผล  เป็นการเปิดรสสัมผัสในปากก่อน เหมือนเป็นการล้างปาก หรืออย่างที่ไทย ๆ เราเรียกกันว่า “อดเปรี้ยว ไว้กินหวาน” หลังจากนั้นค่อยกินส่วนที่เหลือนั่นคือส่วนปลายของผล  ซึ่งจุดนั้นจะมีความหวานมากที่สุดนั่นเอง “

เท่ากับว่าเราจะได้รับรสสัมผัสที่มีลำดับขั้นตอนของมัน คือเปรี้ยวก่อนแล้วหวานตาม ประกอบกับกลิ่นหอมที่ทำให้รสชาติของสตรอเบอร์รี่ “ ฮารุ เบอร์รี่ “ ยิ่งอร่อยขึ้นไปอีกหลายเท่า นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญใส่ใจแม้แต่ในวัฒนธรรมการกิน ซึ่งทำให้คนไทยอย่างเราทึ่งไปเลย

การพัฒนาที่ดิน เป็นหัวใจของโครงการ Yushi Nepon

นโยบาย Farm stay ในญี่ปุ่น หรือนโยบาย Agriturismo ในอิตาลี เป็นนโยบายสำคัญที่ส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในต่างประเทศ ที่เปลี่ยนเกษตรกรจากผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร มาเป็นผู้ให้บริการ และขายผลผลิต ทำให้เกิดธุรกิจและแหล่งรายได้ใหม่ และเป็น Role model สำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมในประเทศไทยในแบบฉบับของ “ Yushi “

แล้วประเทศไทย จะเปลี่ยนเกษตรกรไทยจากผู้ผลิตสินค้าเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเกษตรได้ทันทีหรือไม่ ? ณ ปัจจุบัน (2019) สามารถตอบได้ทันทีเลยว่า “ ไม่ได้ “

หรือได้ก็น้อยมาก ถ้าเทียบกับสัดส่วนเกษตรกรทั้งประเทศ เหตุผลเพราะอะไร ? นั่นก็เป็นเพราะว่า รากปัญหาที่สำคัญของประเทศ คือการติดบล็อกในภาคการทำการเกษตรกรรมของไทย ที่มีปัญหาเรื้อรังมาตลอดระยะเวลา 30 – 40 ปีที่ผ่านมา ในการทำการเกษตร ที่ทุกรัฐบาลพยายามจะหาทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายมาตรการจะเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง ไม่ใช่ต้นทางอันเป็นสาระปัญหาที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ “ ที่ดินทำกิน “ ของเกษตรกรนั่นเอง

เป็นที่มาของปัญหาที่เชื่อมโยงกันอีกหลายปัญหา รวมไปถึงต้นทุนในการทำการเกษตร หนี้สินจากการเช่าที่ดินทำกิน การกู้ยืมเงินนอกระบบ มาทำการเกษตร และต้องใช้สารเคมีในเพาะปลูก เพื่อเป็นหลักประกันผลผลิต ทำให้ผลผลิตมีการปนเปื้อนและทำให้ราคาพืชผลมีราคาต่ำ ไม่สามารถส่งออกในราคาที่สูง แต่ต้องทำ เพื่อนำรายได้ในการขายผลผลิตเหล่านั้น มาหักลบ กลบหนี้ และทำอยู่อย่างนั้น เป็นปัญหาวัฏจักร (Circle) ที่วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบไม่สิ้นในวงจรของการทำเกษตรกรรมของไทย

ประกอบกับไม่มี  “ ความรู้เชิงธุรกิจ “ ในการแปรรูป ส่งออก ตลอดจนพัฒนาอาชีพของตนเองให้เกิดการเพิ่มมูลค่า (Value add) เพราะลำพังแค่คิดว่าจะหารายได้จากไหนมาใช้หนี้สินและต้นทุนที่กู้ยืมมาก็แทบจะไม่มีไอเดียในการคิดอะไรต่อได้แล้ว รวมทั้งตัวเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนเงินทุนในระบบได้อีกเพราะปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมด

ทำให้การทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยวหรือสันทนาการในประเทศไทยที่จะเกิดจากเกษตรกรตัวจริง แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย ทำให้ภาคการเกษตรของไทยซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของบรรพบุรุษของเรา มีแนวโน้มที่จะถดถอยลง

กลุ่มบริษัทยูชิ เข้าใจถึงสาระปัญหาสำคัญดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงวางตำแหน่งโครงการของ Yushi Nepon ไว้ เพื่อเป็นการรองรับการทำเกษตรกรรมในอนาคต โดยการเน้นการให้เทคโนโลยี และให้ความรู้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ แก่เกษตรกรและนักลงทุนในด้านการเกษตร เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเกษตรกรรมในประเทศไทย

โดยเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเรียนรู้ และลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดในการทำการเกษตร เพื่อพัฒนาพื้นที่ไม่มีมูลค่า ให้มีมูลค่าสูงขึ้นจากการทำการเกษตรวิถีใหม่ โดยมีหลักการสำคัญในการพัฒนาผลผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพทางความรู้ให้กับเกษตรกร

วิธีการก็คือ กลุ่มยูชิได้สร้างแพ็คเก็จในการสร้างฟาร์มสตรอเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าสูง โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน Land development โดยแบ่งเป็น 3 ขนาดให้เหมาะสำหรับนักลงทุนและสถานที่ที่ต่างกัน คือ Backyard (S) , Garden (M) และ Farm (L)

โดย Package Backyard จะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก ที่เหมาะสำหรับชุมชนเมืองหรือนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจเดิมของตนเอง เช่น ร้านอาหาร , โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว

โดยมีขนาดโรงเรือน 768 ตร.ม. โดยสามารถให้ผลผลิตได้ 3.5 – 5 ตันต่อปี

Package ที่สองคือ Garden (M) มีขนาดโรงเรือน 1,920 ตร.ม. เหมาะสำหรับพื้นที่ชานเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการมีพื้นที่  ที่ต้องการพัฒนาในรูปแบบการเกษตรขนาดกลาง แต่ไม่ต้องการลงทุนในการลงทุนด้านอื่น เช่น อหังสาริมทรัพย์ ซึ่งใช้ทรัพยากรและเงินทุนสูงในการลงทุน และยากต่อการบริหารจัดการ โดย Package นี้ สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 8.8 – 12.6 ตันต่อปี

โดยทั้งสอง Package นี้จะเป็นกระบวนการที่ทำให้นักลงทุนหันมาตื่นตัว และให้ความสนใจกับการทำธุรกิจในภาคการเกษตรวิถีใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน และสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าส่งออกมาสู่ตลาด เป็นการสร้าง “ Impact “ ทางด้านการทำการเกษตรในเชิงสร้างสรรค์ในเชิงท่องเที่ยว และเป็นรากฐานไปสู่บันไดขั้นสุดท้ายในการพัฒนาเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

นั่นคือ Package Farm (L) เมื่อกลุ่มบริษัทยูชิ สามารถดึงนักลงทุนมาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจได้แล้ว จะเกิดกระแสเงินทุนไหลเวียนในธุรกิจ ฟาร์มของเราจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทั้งในเมืองหลวง และชนบท และ Package Farm (L) จะทำหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ เหตุผลเพราะว่า Package Farm (L) จะต้องตั้งและอาศัยในพื้นที่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากขนาดพื้นที่ ที่ต้องการมีขนาดถึง 3,840 ตร.ม. เป็นอย่างน้อยสำหรับขนาดของโรงเรือน และให้ผลผลิตมหาศาล

เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีพื้นฐานในการทำการเกษตรเป็นหลัก โดยจะสามารถลงทุนเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสมัยใหม่ , ขายผลผลิตหน้าฟาร์ม , เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมการผลิตผลไม้และพืชผลทางการเกษตร แปรรูปผลิตภัณฑ์ และอื่น ๆ

เมื่อมีการลงทุนการเกษตรกรรมในรูปแบบโรงเรือนขนาดใหญ่ในชนบท วิทยาการต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดลงไปอย่างเป็นระบบตามรูปแบบ “ Business plan “ ที่ถูกวางไว้ และเมื่อเกิดโรงเรือนซึ่งจะเป็นกึ่งสถานที่ท่องเที่ยงเชิงเกษตรขนาดใหญ่กลาย ๆ จะนำมาด้วยการจ้างงานในพื้นที่ คนที่จะถูกจ้างเข้ามาทำงานในโรงเรือน ก็จะต้องเป็นเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ เป็นหลัก และจะได้รับการอบรม ให้ความรู้ ตลอดจนซึมซับการทำเกษตรกรรมวิถีใหม่ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปต่อยอดความรู้ให้กับวิธีทำการเกษตรของตนเอง ขยายไปสู่ชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง

โดยกลุ่มบริษัทยูชิ จะถ่ายทอดวิทยาการตั้งแต่พื้นฐานความรู้ของพืช การผลิต การเก็บเกี่ยว การใช้เทคโนโลยีและการแปรรูปโดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย สิ่งดังกล่าวจะนำมาซึ่งการซึมซับการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ไปสู่คนรากหญ้าอย่างแท้จริง และจะเกิดการปรับตัวและพฤติกรรมการเลียนแบบในการผลิตในรูปแบบของชุมชนในอนาคตเกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาดในการทำการเกษตรในที่สุด

เครื่องจักรกล และหุ่นยนต์จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรือน และการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า เด็ก ๆ ชาวบ้าน ตัวเกษตรกร และนักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าถึงจักรกลอัฉริยะได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีความรู้ในการประยุกต์ใช้เครื่องทุนแรงที่ทันสมัยในธุรกิจการเกษตรเพิ่มพูนขึ้น

พื้นที่โดยรอบโรงเรือน สถานที่ใกล้เคียง และที่ดินรกร้างรอบข้าง ก็จะมีแนวโน้มมีมูลค่าสูงขึ้น จากธุรกิจการเกษตรเชิงท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐไทย มีการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็จะสัมพันธ์กับการดำเนินงานในส่วนนี้ และสิ่งที่จะตามมาคือ ธุรกิจแวดล้อมอื่น ๆ อาทิ โรงแรม , สถานบันเทิง , ร้านอาหาร , ปั๊มน้ำมัน , และธุรกิจบริการมากมาย นำมาซึ่งการจ้างงานในเขตชนบททั้งสิ้น เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคอย่างแท้จริง

เมื่อเกษตรกรมีรายได้และความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น หนี้สินจะลดลง เมื่อหนี้สินลดลงก็จะสามารถนำเงินทุนและความรู้ที่ได้นั้น ไปประกอบการเกษตรที่สะอาด มีมูลค่ากว่าการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้ “ อนินทรีย์ “ ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก ทำให้ชุมชนมีความเจริญก้าวหน้า ไม่มีเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่เข้าสู่เมือง และเกิดความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ และการขยายตัวในภาคเกษตรกรรมในภาพรวมของประเทศในที่สุด

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการทำงานวิจัยอย่างเข้มข้น ใส่ใจรายละเอียดแม้แต่ในขั้นตอนเล็ก ๆ ในทุกมาตรฐานการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทย

โดยบริษัทเนปอน (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตรในญี่ปุ่นมายาวนานและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น เป็นผู้นำทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ โดยผู้ร่วมทุนให้ทั้งเทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านความรู้กับเจ้าหน้าที่ของไทย โดยกลุ่มบริษัทยูชิ ได้ใช้งบประมาณในการวิจัยโครงการดังกล่าวไปกว่า 50 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการและสนับสนุนธุรกิจดังกล่าว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทย

เหล่านี้เป็นภาพในอนาคตที่ กลุ่มบริษัท คณะผู้บริหารทุกระดับมีความตั้งใจที่จะพัฒนาภาค “ เกษตรกรรม “ ในประเทศไทยอย่างแท้จริง  และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กลุ่มบริษัทยูชิ มุ่งมั่นและทำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในการค้นคว้าและวิจัยสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ โดยฝีมือของคนไทยออกไปยังตลาดโลก (Global Market) ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ คำว่า Made in Thailand ในอนาคตต้องก้าวไปเป็นสินค้าที่นำประเทศไทยสู่ความเป็นอารยะ

เราไม่อาจทอดทิ้งอาชีพที่บรรพบุรุษของเราสร้างขึ้นมา ให้ลำบากตรากตรำโดยไร้หนทางในการมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เรามีความแน่วแน่ที่จะทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตหลังจากนี้ และ Motto นี้จะอยู่ในใจเราเสมอ

ดูเว็บไซต์